เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

ในการบำเรอทั้ง 4 ประเภทนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้ว่า ‘พราหมณ์ควรบำเรอพราหมณ์ กษัตริย์ควรบำเรอพราหมณ์ แพศย์ควรบำเรอ
พราหมณ์ หรือศูทรควรบำเรอพราหมณ์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้ว่า ‘กษัตริย์ควรบำเรอกษัตริย์
แพศย์ควรบำเรอกษัตริย์ หรือศูทรควรบำเรอกษัตริย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ
การบำเรอกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้ว่า ‘แพศย์ควรบำเรอแพศย์
หรือศูทรควรบำเรอแพศย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้ว่า ‘ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร
ผู้อื่นใครเล่าจักบำเรอศูทร’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้เช่นนี้แล
ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทนี้ ท่าน
พระโคดมตรัสการบำเรอนี้ไว้อย่างไร”
[437] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ
คำของพราหมณ์ที่ว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทเท่านี้หรือ”
เอสุการีพราหมณ์ ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น
ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้อที่อาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน
โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ 4 ประเภทแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ฝ่ายเดียว โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวง
ควรบำเรอ’ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรบำเรอ’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอ
สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย เราจึงไม่
กล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’ แต่เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดเพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้น
พึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย เราจึงกล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :548 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

ถ้าแม้ชนทั้งหลายจะพึงถามกษัตริย์อย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะ
เหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอ
สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณี
เช่นนี้ท่านควรบำเรอสิ่งไหน’ กษัตริย์เมื่อจะตรัสตอบให้ถูกต้อง ควรตรัสตอบอย่างนี้ว่า
‘เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มี
ความดีเลย ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ
แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามแพศย์ ฯลฯ
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามศูทรอย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ
แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่
เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณีเช่นนี้ท่าน
ควรบำเรอสิ่งไหน’ แม้ศูทรเมื่อจะตอบให้ถูกต้อง ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘เมื่อข้าพเจ้า
บำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย
ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ
สิ่งนั้นพึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’
เราจะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าว
ว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็น
ผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม
เพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ เรากล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ เพราะ
ความเป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่ แต่จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะความ
เป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่
[438] พราหมณ์ เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในตระกูลสูงก็ยังเป็น
ผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น
เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :549 }